เงินตราภาคใต้ การค้า และผู้คนบนแผ่นดินคาบสมุทร
เงินตราภาคใต้ การค้า และผู้คนบนแผ่นดินคาบสมุทร
24/7/2561 / 419 / สร้างโดย Web Admin

ดินแดนภาคใต้ของไทยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรที่ถูกขนาบด้วยมหาสมุทรทั้ง ๒ ด้านคือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าโบราณสำคัญคือ "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ของซีกโลกตะวันออกและตะวันตก พบหลักฐานการแลกเปลี่ยนสินค้าของสองซีกโลกมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ โดยบริเวณภาคใต้ของไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "ดินแดนทอง" ของการค้าในยุคนั้น ซึ่งถูกเรียกว่า "สุวรรณภูมิ" เงินตราภาคใต้ คือหลักฐานที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางการค้า ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนแผ่นดินคาบสมุทรภาคใต้ในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี

เงินตราภาคใต้ การค้า และผู้คนบนแผ่นดินคาบสมุทร

คาบสมุทรภาคใต้ สะพานเชื่อมการค้าสองซีกโลก

จากหลักฐานเอกสารโบราณปรากฏชื่อเมืองท่าสำคัญบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่น เมือง "ตะโกละ" หรือตะกั่วป่า รวมทั้งการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เช่น ลูกปัด เหรียญเงินตราของกรีก-โรมัน อาหรับ จีน อินเดีย ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าบริเวณภาคใต้ของไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับชุมชนต่างถิ่น เช่น จีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๕ โดยเฉพาะการค้นพบเหรียญอินเดียจากสมัยอินโด-โรมัน ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖-๙ ในแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด คลองท่อม จังหวัดกระบี่ คือหลักฐานชัดเจนว่ามีพ่อค้าจากอินเดียเดินทางมาค้าขายกับบ้านเมืองในดินแดนนี้ตั้งแต่๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว


อาณาจักรศรีวิชัย ดินแดนแห่งการค้าทางทะเล

พุทธศตวรรษที่ ๘-๑๒ บันทึกของนักเดินทางชาวจีนกล่าวถึงรัฐฟูนัน ทวารวดี ศรีเกษตร และศรีวิชัย ที่มีบทบาทสำคัญในเครือข่ายการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย บริเวณภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เนื่องจากสามารถควบคุมปากแม่น้ำและบริเวณอ่าวต่างๆ ทางตอนใต้ของไทยไปตนถึงเกาะสมุมาตรา ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียและจีนได้ อาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่ขยายดินแดนออกไปตั้งแต่บริเวณนครศรีธรรมราชจนถึงตอนเหนือของแหลมมลายูและบริเวณหมู่เกาะชวาทั้งหมด มีการขุดค้นพบเงินตราดอกจันของอาณาจักรศรีวิชัยในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดี สทิงพระ จังหวัดสงขลา เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ อีกทั้งศิลาจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กล่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น


นครศรีธรรมราช จากศูนย์กลางการค้าบนคาบสมุทรสู่เมืองในปกครองของอยุธยา

หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจ อาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช ก็ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางบนคาบสมุทร ซึ่งรุ่งเรืองร่วมสมัยกับอาณาจักรล้านนา สุโขทัย และอยุธยา โดยมีการผลิตเงินตราของตัวเองเรียกว่า เงินนโม ซึ่งพบอยู่ ๓ ลักษณะ เรียกตามสัณฐานของเงิน ได้แก่ เงินนโมเมล็ดข้าวสาร เงินนโมขี้หนู และเงินนโมตาไก่

ต่อมาเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา จึงใช้เงินพดด้วงของอยุธยา แต่เงินพดด้วงที่ผลิตด้วยแรงคนไม่พอใช้ จึงได้รับอนุญาตให้ทำเงินตราขึ้นใช้เอง รวมทั้งทำเหรียญดีบุก ตีตราเงินพดด้วงสมัยอยุธยา หรือตรานโมขึ้นใช้จ่ายอีกด้วย


การค้าของรัฐภาคใต้กับอาณานิคมตะวันตก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภาคใต้ของไทยมีการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองใกล้เคียง ซึ่งตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น มลายู อาณานิคมของอังกฤษ จีน-พม่า อาณานิคมอังกฤษ ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา อาณานิคมฝรั่งเศส เกาะชวา อินโดนีเซีย อาณานิคมอลันดา เป็นต้น ทำให้เงินตราของอาณานิคมเหล่านี้ได้แพร่หลายเข้ามาใช้ในบริเวณภาคใต้ของไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบเงินตราจากส่วนกลางก็ไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ พ่อค้าและราษฎรจึงยอมรับเงินเหรียญนอก เช่น เหรียญนกเม็กซิโก เหรียญรูปีอินเดีย ซึ่งมีความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินได้มาตรฐานสูง จวบจนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินเหรียญนอก และใช้ให้เงินตราสยามที่ผลิตขึ้นได้ในปริมาณมากเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ


สำเภาจีน ณ เมืองท่าชายฝั่งทะเลใต้

ดินแดนภาคใต้ของไทยมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเงินอีแปะของจีนในสมัยราชวงศ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก สมัยรัตนโกสินทร์มีชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้จำนวนมาก มีการนำเหรียญเงินตราจีนเข้ามาใช้ด้วย ชาวจีนบางส่วนได้พัฒนาตัวเองจนได้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองหลายเมือง เช่น เมืองสงขลา เมืองตรัง เมืองระนอง เมือตะกั่วป่า เป็นต้น ผู้นำชาวจีนที่เป็นเจ้าเมืองและนายเหมืองได้ริเริ่มผลิตเงินตราตามรูปแบบอีแปะจีนขึ้นใช้ เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในเขตการปกครองของแต่ละเมืองหรือแต่ละบริษัทการค้าของตน

เงินอีแปะของหัวเมืองต่างๆ ในภาคใต้ ตลอดถึงหัวเมืองมลายูบางเมืองนิยมใช้กันแพร่หลายในช่วงตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากเงินพดด้วงและเงินเหรียญของรัฐไทยยังกระจายไม่ทั่วถึง และไม่เพียงต่อความต้องการใช้ในหัวเมือง จนในที่สุด เมื่อสยามสามารถผลิตเงินตราได้ปริมาณมากพอตามความต้องการและมีมาตรฐานสากล เงินท้องถิ่นเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด


เอกลักษณ์ท้องถิ่นบนเงินตราประจำเมือง

นำเสนอข้อมูลสถานที่สำคัญซึ่งปรากฏบนเหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวเด่นของแต่ละจังหวัดและจัดแสดงเหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดให้ประชาชนทั่วไปได้ชม รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสะสม

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
อาณาจักรศรีวิชัย ดินแดนแห่งการค้าทางทะเล
3/5/2561 / 300
อาณาจักรศรีวิชัย ดินแดนแห่งการค้าทางทะเล
นครศรีธรรมราช จากศูนย์กลางการค้าบนคาบสมุทรสู่เมืองในปกครองของอยุธยา
2/5/2561 / 184
นครศรีธรรมราช จากศูนย์กลางการค้าบนคาบสมุทรสู่เมืองในปกครองของอยุธยา
การค้าของรัฐภาคใต้กับอาณานิคมตะวันตก
1/5/2561 / 340
การค้าของรัฐภาคใต้กับอาณานิคมตะวันตก