เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540 เหรียญที่ระลึกแห่งประวัติศาสตร์
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540 เหรียญที่ระลึกแห่งประวัติศาสตร์
14/5/2561 / 178 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ มนุษย์มักจะหาหรือสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจขึ้นในรูปของผู้ปกป้อง เพื่อเป็นการชดเชยทางจิตวิทยา ศาสนาและความเชื่อบางนิกายมีมูลเหตุมาจากผลดังกล่าว โดยเฉพาะศาสนาที่นับถือเทพเจ้า และคติความเชื่อที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือหวนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งก็เช่นเดียวกัน สำหรับการเคารพนับถือของผู้คนในดินแดนไทยสมัยโบราณเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย และเป็นความเชื่อแบบพหุวัฒนธรรม คือมีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ จากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่า ชุมชนในแถบเอเชียอาคเนย์ มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการนับถือผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น จนกระทั่งได้ติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนอื่น ศาสนาสำคัญอย่างพราหมณ์และพระพุทธศาสนา จึงเริ่มเข้ามาผสมผสานกับคติเดิม๑และมีการสืบทอดปรับประยุกต์ให้สอดรับกับสังคมวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัย

 

มูลเหตุที่มาของการสร้างพระสยามเทวาธิราช

ในอดีตขนบธรรมเนียมของสังคมอันเป็นแบบแผน มักมีที่มาจากศูนย์กลางหรือราชสำนักแล้วค่อยแผ่ขยายออกไปพื้นที่ต่างๆ ในระดับประเทศ แม้แต่เรื่องของศาสนาหรือคติความเชื่อก็เช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดพหุความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรืออาจจะยาวนานถึงสมัยสุโขทัย๒ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะการนับถือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลัก และศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีบทบาทความสำคัญโดยตรงกับพระราชพิธีเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อเรื่องผีและเทวดาที่คอยปกปักรักษาองค์พระมหากษัตริย์และประเทศอีกด้วย


ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นช่วงเวลาที่ประสบปัญหาใหญ่ระดับประเทศหลายด้าน อย่างเช่นการเข้ามาคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และสืบเนื่องมาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ จักรวรรดินิยมตะวันตกมีนโยบายรุนแรงต่อไทยหลายครั้ง เช่น คราวที่ เซอร์ เจมส์ บรู๊ค ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ กดดันให้ฝ่ายไทยปรับปรุงสนธิสัญญา เพื่อยุติการส่งกองกำลังทหารเข้าบุกทำลายป้อมปราการและยึดพระนคร๓หรือการเข้ามาของ ลอร์ด จอห์น เฮย์ ข้าหลวงอังกฤษ ประจำสเตรท เซทเทิลเมนต์ เพื่อระดมยิงเมืองตรังกานู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น ก่อนคุมกองทัพเรือขึ้นมายังกรุงเทพ๔ และเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองการปกครองของประเทศและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร๕ (ภาพที่ ๑ – ๒) ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งหลาย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจด้วย จึงอาจเป็นเหตุผลที่รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นเพื่อเป็นหลักทางจิตใจแก่พระองค์ และอาณาประชาราษฎร์ ดังความในจดหมายส่วนตัวของหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ถึงพันโทสุจิตร ตุลยานนท์ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๕ สันนิษฐานไว้ว่า

"เรื่องพระสยามเทวาธิราชนั้น ความเห็นของเธอที่ว่าอาจจะสร้างใน พ.ศ.๒๔๐๒ – ๒๔๐๓ อาจจะถูก หรือจะสร้างใน พ.ศ.๒๔๐๑ ก็เป็นได้ เพราะไทยได้ทำสัญญาค้าขายเสร็จกับชาติใหญ่ ๆ เช่น อังกฤษ, อเมริกา, ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘, พ.ศ.๒๓๙๙ และใน พ.ศ.๒๔๐๑ ญวนก็ได้รบกับฝรั่งเศส เพราะไม่ยอมทำสัญญา ไทยเป็นอันรอดตัวมาได้ และด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้น ทรงพระราชปรารภว่า ประเทศสยาม (ประเทศไทย) ต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา จึงรอดพ้นอันตรายมาได้หลายคราว...”๖

ซึ่งสอดคล้องกับพระนิพนธ์เรื่องสารคดี ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ความว่า

"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดศึกษาประวัติศาสตร์ ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นมาสักการะบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมติขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช...”๗

แม้ว่าหลักฐานเรื่องพระสยามเทวาธิราชสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จะมีน้ำหนักเพียงพอ แต่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับปีที่สร้างนั้น ยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่พบหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงการสร้างองค์พระสยามเทวาธิราช อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีองค์พระสยามเทวาธิราช เป็นประติมากรรมรูปสมมติเทวดาที่คอยคุ้มครองประชาชนชาวไทยและปกปักรักษาประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
เหรียญเงิน ที่ระลึกพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
26/7/2561 / 209
เหรียญเงิน ที่ระลึกพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ม..
เหรียญดีบุกกลันตัน ในพิพิธภัณฑ์ของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
15/5/2561 / 244
เหรียญดีบุกกลันตัน ในพิพิธภัณฑ์ของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน